8.12.2009

Super Handler






“Art Handler”


คือคำตอบของพวกเขาเมื่อถูกถามว่า สิ่งที่ทำอยู่เรียกว่าอาชีพอะไร

พวกเขาอาจกลายเป็นช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างไม้ คนงานก่อสร้าง พนักงานขนย้าย หากในชีวิตของพวกเขาขาด ‘ศิลปะ’

ในขณะที่พวกเขามีโอกาสโด่งดังในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง ถ้าเลือกเดินบนเส้นทางสุนทรียะสายนี้ หากแต่พวกเขาไหวตัวทันกับความแออัดของจำนวนประชากรเลือดอาร์ทติส จึงขอเปลี่ยนเลนและสูดอากาศโปร่งๆ ให้ชุ่มปอดดีบนถนนสายข้างๆ ดีกว่า

“นักศึกษาศิลปะในเมืองไทยเยอะมาก ในขณะที่คนที่ประสบสำเร็จจริงๆ มีไม่กี่คน พวกเราสนใจและเรียนศิลปะกันมาอยู่แล้ว จึงมองไปอีกช่องทางหนึ่งที่อยู่ในวงการนี้เหมือนกัน

“วงการศิลปะต้องการมากกว่าศิลปินและการโชว์งาน เพราะก่อนการจัดนิทรรศการมีขั้นตอนและผู้คนเกี่ยวข้องด้วยมากมาย ทั้งภัณฑารักษ์ นักเขียนบทความ ส่วนพวกเราสนใจว่านิทรรศการที่ดีควรเริ่มต้นจากอะไรบ้าง”

เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้ รวมทั้งเหล่าศิลปินที่ไว้ใจและว่ายวานพวกเขาให้ติดตั้ง ขนย้าย บริหาร จัดการ ควบคุม ช่วยเหลือ ดูแลขั้นตอนการจัดนิทรรศการที่ผลงานบางชิ้นสนนราคาหลายแสน!

“ถ้าเป็นศิลปินแนวศิลปะร่วมสมัยของเมืองไทย พวกเราเจอมาหมดแล้ว เช่นงานศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง คุณพิณรี สัณฑ์พิทักษ์, อ.อารยา ราษฎร์จำเริญสุข และอ.มณเฑียร บุญมา ซึ่งมีไม่กี่คนที่มีโอกาสจับงานเหล่านี้”

แพงกว่าแบล็กเบอรี่ แพงกว่ารถ แพงกว่าบ้าน แพงกว่าโบนัส แพงอย่างไม่มีเหตุผล แต่เป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจล้วนๆ สิ่งของประเภทนี้ศิลปินตระหนักดีกว่าคงวานตาสี ตาสา ลุงมี ลุงมา ช่วยแขวนรูป ทำไลท์บล็อก ติดไฟ จัดแสง จัดวาง เช็คสเปซ ทำโครงสร้าง ฯลฯ ไม่ได้หรอก

“อย่างการติดตั้งงานครั้งล่าสุดในแกลเลอรี่ งานครั้งนั้นสิ่งที่ศิลปินอยากได้ไม่ใช่แค่กล่องสี่เหลี่ยมธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่เขาต้องการกล่องไลท์บล็อกสี่เหลี่ยมที่ถูกคำนวณมาอย่างดีแล้วว่าแสงที่ส่องออกมามันสม่ำเสมอเท่ากันหมด

“เมื่อก่อนเขาอาจจะใช้นักศึกษา อาสาสมัครหรือช่างทั่วไปในการติดตั้งงาน หรือบางทีศิลปินทำกันเองก็มี แต่ในความเป็นสากลหรือในต่างประเทศ เขามีกลุ่มและอาชีพอย่างพวกเรากันอยู่แล้ว”เปลี่ยนวิกฤตให้เป็น
โอกาส คือประโยคที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากจบบทสนทนา

“ความสามารถทางศิลปะของพวกเราน้อยกว่า แต่มีความสามารถทางด้านการจัดการมากกว่า”

พีม, เบน, น้ำ, ปูน,บอย ใช้ชุดความคิดนี้มาตลอด 3 ปีตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่ม Supernormal จากเพื่อนร่วมภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ กลายเป็นเพื่อนร่วมบริษัท Supernormal Studio Co., LTD และรับติดตั้งงานนิทรรศการศิลปะในแกลเลอรี่ไปจนถึงอีเว้นท์แนวอาร์ทและดีไซน์ทั่วราชอาณาจักร จนกลายเป็น Art Handler กลุ่มแรกในเมืองไทยที่ซีเรียสจริงจัง เพราะไม่ทำมาหากินกับงานด้านอื่นแล้ว!


“คณะของเราไม่ได้แยกเป็นประติมากรรมหรือจิตรกรรม เขาใช้คำว่าทัศนศิลป์ ซึ่งความสามารถของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป บางคนทำงานประติมากรรม บางคนทำงานจิตรกรรม บางคนทำงานสื่อมีเดีย เมื่อพวกเรามาเจอกันมันช่วยเหลือกันได้ทุกอย่าง เพราะพวกเราทุกคนไม่ได้มีความสามารถเหมือนกันหมดนี่แหละ” แล้วพวกเขาจะไส้แห้งเหมือนศิลปินหรือเปล่า (ตามคำพูดติดปาก)?!

อย่างที่รู้ว่างานศิลปะเงินมันน้อยก็ต้องช่วยกันทำไป มันต่างจากงานอีเว้นท์ที่เป็นคอมเมอร์เชียล คืองานศิลปะเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร มันถูกจัดขึ้นมาเพื่อการศึกษาและเมื่อจัดแสดงโชว์ก็ไม่ได้ไปขายใคร ในขณะที่งานคอมเมอร์เชียลถูกทำขึ้นมาเพื่อนำไปขายต่อ

“ก็อยู่ได้นะ เพราะพวกเราทำงานหลากหลาย แต่รับงานศิลปะเป็นหลัก บางเดือนงานเยอะมาก เพราะตอนนี้ความเข้าใจในศิลปะของคนไทยเริ่มกว้างขึ้น มีกิจกรรมและโครงการมากมาย มีพื้นที่ทางศิลปะเยอะแยะ คนทำงานศิลปะอย่างพวกเรา รวมไปถึงนักวิจารณ์ นักเขียน คนทำหนังสือ ภัณฑารักษ์จึงมีโอกาสได้แสดงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ”

ปิดทองหลังพระ คำนี้ก็น่าจะใช้อธิบายคุณลักษณะของอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี ส่วนทองที่พนักงานบริษัท Supernormal เคยปิดอยู่ในงานนิทรรศการยักษ์ใหญ่ประจำปีหลายงาน อย่าง Project Zero, Talk about love, โครงการอักขรศิลป์ “ทรงพระเจริญ”, 4th month of Photography Bangkok : Face a Faces, Bran New 09 และล่าสุดที่งานบางกอก กล๊วย กล้วย

“พวกเราทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่า เวลางานออกมาดี ศิลปินจะเป็นคนที่ได้รับคำชม แต่พวกเราก็คิดว่าดี เพราะคนชมไม่ใช่ปัญหา โดนด่าสิเป็นปัญหาซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีใครด่านะ และด้วยความที่เป็นนักศึกษาศิลปะและชอบทำงานศิลปะ พอได้อยู่กับมันทุกวันก็มีความสุขดี”

บทความจาก
Mars magazine ฉบับที่ ประจำเดือน กรกฎาคม คอลัมน์ S People SIZE S ชื่อเรื่อง Super Handler

เรื่อง นันทรัตน์ สันติฯ ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์